โปรแกรมคำนวนค่าดัชนีมวลกาย – BMI
ค่า BMI คือค่าดัชนีที่ใช้ชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) และส่วนสูง (เซนติเมตร) ซึ่งสามารถระบุได้ว่า ตอนนี้รูปร่างของคนคนนั้นอยู่ในระดับใด ตั้งแต่อ้วนมากไปจนถึงผอมเกินไป
Body Mass Index (BMI) มีสูตรการคำนวณ = น้ำหนักตัว[Kg] / (ส่วนสูง[m] ยกกำลังสอง) สูตรคำนวณเหมาะสำหรับใช้ประเมินผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ประโยชน์ของการวัดค่า BMI เพื่อดูอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตรวจสอบภาวะไขมันและความอ้วน ดังนั้นการทำให้ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพในระยะยาว
อ้วนมาก = 30.0 ขึ้นไป
ค่อนข้างอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่แฝงมากับความอ้วน หากค่า BMI อยู่ในระดับนี้ จะต้องปรับพฤติกรรมการทานอาหาร และควรเริ่มออกกำลังกาย และหากเลขยิ่งสูงกว่า 40.0 ยิ่งแสดงถึงความอ้วนที่มากขึ้น ควรไปตรวจสุขภาพ และปรึกษาแพทย์
อ้วน = 25.0 – 29.9
อ้วนในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ถือว่าอ้วนมาก ๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับความอ้วนได้เช่นกัน ทั้งโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ควรปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพ
น้ำหนักปกติ เหมาะสม = 18.6 – 24
น้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับคนไทยคือค่า BMI ระหว่าง 18.5-24 จัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ห่างไกลโรคที่เกิดจากความอ้วน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ น้อยที่สุด ควรพยายามรักษาระดับค่า BMI ให้อยู่ในระดับนี้ให้นานที่สุด และควรตรวจสุขภาพทุกปี
ผอมเกินไป = น้อยกว่า 18.5
น้ำหนักน้อยกว่าปกติก็ไม่ค่อยดี หากคุณสูงมากแต่น้ำหนักน้อยเกินไป อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย การรับประทานอาหารให้เพียงพอ และการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อสามารถช่วยเพิ่มค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
ค่า BMI จากโปรแกรมคำนวณนี้ เป็นค่าสำหรับชาวเอเชียและคนไทย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเชื้อชาติ ค่า BMI เฉลี่ยของหญิงไทยคือ 24.4 และของชายไทยคือ 23.1 (อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป)
ดัชนีมวลกาย หรือ BMI ย่อมาจาก Body Mass Index เป็นค่าสากลที่ใช้เพื่อคำนวณเพื่อหาน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น และประมาณระดับไขมันในร่างกายโดยใช้น้ำหนักตัว และส่วนสูง
การคำนวณดัชนีมวลกายไม่ใช่การวัดโดยตรงแต่ก็เป็นตัวชี้วัดไขมันในร่างกายที่ค่อนข้างเชื่อถือได้สำหรับคนส่วนใหญ่
ค่า BMI สามารถใช้บ่งบอกความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆได้อีกด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ระบบหัวใจ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิด
แต่อย่างไรก็ตามค่า BMI เป็นแค่การคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากคุณจำเป็นต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาประกอบด้วย ทั้งเรื่องของพันธุกรรม ปริมาณกล้ามเนื้อ พฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต การออกกำลังกาย และอื่นๆ
แต่เนื่องจากดัชนีมวลกายมีวิธีคำนวณที่ง่าย จึงทำให้ทุกคนสามารถประเมินความเสี่ยงของตนเอง จากการมีปริมาณไขมันในร่างกายเกินได้
ข้อจำกัดของการใช้ดัชนีมวลกายในการวัดปริมาณไขมันในร่างกาย
แม้ว่าดัชนีมวลกายจะสัมพันธ์กับการวัดไขมันในร่างกายค่อนข้างมาก แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และความสามารถทางกีฬา ข้อจำกัดเหล่านี้ได้แก่
- ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าผู้ชาย
- คนที่อายุมากกว่ามีแนวโน้มที่จะมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
- นักกีฬาที่ฝึกฝนมาอย่างดีจะมีดัชนีมวลกายสูงเนื่องจากมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่า ทำให้น้ำหนักตัวที่มากนั้นมาจากมวลกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ไขมันองค์ประกอบของร่างกาย ไขมันในร่างกาย และดัชนีมวลกาย
ความเสี่ยงของสุขภาพจากการมีดัชนีมวลกายสูง
เหตุผลที่ใช้ดัชนีมวลกายในการคัดกรองสุขภาพของประชากรทั่วไปเนื่องจากการมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั้นมีความสัมพันธ์อย่างมากกับปัญหาสุขภาพ การเกิดโรคเรื้อรัง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนจะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่อไปนี้เพิ่มขึ้น
- ข้อเสื่อม
- เบาหวาน
- มะเร็งบางชนิด
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือตัน
- หยุดหายใจขณะหลับหรือมีปัญหาทางเดินหายใจ
วิธีการเพิ่มหรือลดค่า BMI
- ค่า BMI จะแปรผันตามน้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวเพิ่มก็จะทำให้ค่า BMI เพิ่มขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวลดก็จะทำให้ค่า BMI ลดลงเช่นเดียวกัน
- ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มปริมาณการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวัน
- เลือกกินอาหารที่ไขมันไม่สูง หรือทานให้ครบ 5 หมู่
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7 ชั่วโมงต่อวัน
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทาง