น้ำเต้าหู้ ประโยชน์ต่อสุขภาพกับข้อควรระวังในการบริโภค
น้ำเต้าหู้เป็นแหล่งโปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี 12 โพแทสเซียม และไอโซฟลาโวน (Isoflavone) มากไปกว่านั้นยังอุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี และเพราะน้ำเต้าหู้ทำมาจากธรรมชาติ จึงไม่มีคอเลสเตอรอลและมีไขมันอิ่มตัวต่ำ รวมถึงไม่มีแลคโตส
ปริมาณน้ำเต้าหู้ที่ควรบริโภคในแต่ละวัน
โดยปกติแล้วอาหารจากถั่วเหลืองนั้นแปรรูปไปเป็นเมนูอื่น ๆ เช่น เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เป็นต้น ในหนึ่งวันอาจรับประทานเมนูจากถั่วเหลืองมากกว่าแค่การดื่มน้ำเต้าหู้ จากสถาบันวิจัยมะเร็งสหรัฐอเมริกา American Institute for Cancer Research (AICR) แนะนำว่า เฉลี่ยแล้วสามารถดื่มน้ำเต้าหู้ได้ประมาณวันละ 2 แก้ว ดังนั้น หากในหนึ่งวัน รับประทานเมนูผัดเต้าหู้ไปแล้ว อาจดื่มน้ำเต้าหู้ได้ 1 แก้ว แต่หากดื่มมากกว่านั้นเป็น 2 แก้วก็ยังถือว่าไม่ได้บริโภคน้ำเต้าหู้มากเกินไป ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
ประโยชน์ของน้ำเต้าหู้
น้ำเต้าหูมีประโยชน์ต่าง ๆ ต่อสุขภาพ ดังนี้
1.อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
การกินอาหารที่มีถั่วเหลืองมีแนวโน้มว่าจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมในผู้หญิงบางคน เนื่องจากผู้หญิงเอเชียผู้ที่กินอาหารที่มีถั่วเหลืองมากดูเหมือนว่าจะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่า ผู้หญิงที่กินถั่วเหลืองน้อย แต่อย่างไรก็ตามผลของการบริโภคถั่วเหลืองกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมดูเหมือนว่าจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น เช่น อายุ และภาวะหมดประจำเดือน
โดยผู้หญิงที่กินถั่วเหลืองมากในช่วงวัยรุ่น มีแนวโน้มว่าจะลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง เพราะเชื่อกันว่าการกินดื่มน้ำเต้าหู้หรือกินอาหารที่อุดมไปด้วยถั่วเหลืองจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่ยืนยันได้ว่า การกินอาหารเสริมไอโซฟลาโวนที่สกัดจากถั่วเหลืองนั้น มีส่วนช่วยในการลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม
2.เหมาะกับผู้ที่แพ้แลคโตสในนม
น้ำเต้าหู้เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี และยังมีแคลเซียมด้วย จึงเหมาะกับผู้ที่แพ้แลคโตสในนมและต้องการโปรตีนและแคลเซียมจากนมถั่วเหลืองแทนนมวัว
3.ช่วยลดคอเลสเตอรอล
สถาบัน National Institute of Health and Nutrition ในประเทศญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลว่า โปรตีนในน้ำเต้าหู้สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ซึ่งการที่คอเลสเตอรอลในเลือดลดลงส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ดังนั้น ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงอาจเปลี่ยนมาดื่มน้ำเต้าหู้แทน
4.น้ำเต้าหู้กับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
การกินอาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลืองและไฟเบอร์ถั่วเหลือง เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าเจี้ยวหรือถั่วเหลืองหมัก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ แต่ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรระวังปริมาณน้ำตาลในน้ำเต้าหู้ ควรดื่มน้ำเต้าหู้ชนิดแบบไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำตาลน้อย
5.เหมาะกับผู้ที่อาจช่วยลดความดันโลหิตสูง
การกินโปรตีนจากถั่วเหลืองช่วยลดค่าความดันโลหิต (Systolic blood pressure) โดยสามารถอาจลดความดันโลหิตสูงได้ประมาณ 4-8 มิลลิเมตรปรอท (mmHG) ส่วนค่าความดันโลหิตที่เป็นตัวเลขด้านล่าง (Diastolic blood pressure) อาจลดลงประมาณ 3-5 มิลลิเมตรปรอท (mmHG) ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเล็กน้อย ดังนั้นการดื่มน้ำเต้าหู้จึงอาจช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูง
6.อาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
โปรตีนจากถั่วเหลือง หรือสารสกัดถั่วเหลืองช่วยเพิ่มความหนาแน่นมวลกระดูก (BMD, bone mineral density) หรือช่วยชะลอการสูญเสียความหนาแน่นมวลกระดูกในผู้หญิงที่ใกล้หมดประจำเดือน โดยควรกินอาหารที่ทำมาจากถั่วเหลืองเพื่อให้ได้รับไอโซฟลาโวนอย่างน้อย 75 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลดีต่อกระดูกในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำเต้าหู้ หรือการกินผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองดูเหมือนว่าจะไม่ส่งผลต่อความหนาแน่นมวลกระดูกในผู้หญิงที่อายุน้อย