โรคมือเท้าในเด็ก
หากลูกของคุณมีอาการไข้สูง มีแผลในปาก มีตุ่มตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ลูกของคุณอาจเป็น โรคมือเท้าปาก แล้วโรคนี้รุนแรงแค่ไหน มีวิธีการป้องกันอย่างไร คุณหมอ (พญ.ธันยธร พิสิฐบัณฑูรย์) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และระบบภูมิคุ้มกัน รพ.วิชัยเวชฯอ้อมน้อย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ค่ะ
โรคมือเท้าปากในเด็กเกิดจากอะไร?
โรคมือเท้าปากในเด็ก เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส แต่ตัวที่น่าสนใจและควรที่จะรู้จักก็คือ คอกแซกกีไวรัส A16 (Coxsackievirus A16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus71) พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคมือเท้าปากสามารถเกิดได้ตลอดทั้งปี แต่พบบ่อยในฤดูฝนและฤดูหนาว การติดต่อเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือ หรือติดเชื้อมาจากผู้ที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากระยะแพร่เชื้อ จะเริ่มตั้งแต่เขามีอาการ ซึ่งจะเริ่มมีเชื้อออกมาจากสารคัดหลั่งต่าง ๆ เช่น ตุ่มน้ำใสบนผิวหนัง น้ำมูก เสมหะ น้ำลาย หรืออุจจาระที่ติดเชื้อ ซึ่งระยะที่แพร่เชื้อได้มากที่สุด คือ ภายใน 7 วันหลังจากมีอาการ
อาการของโรคมือเท้าปาก
- อาการเริ่มต้น คือ มีอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้
- อ่อนเพลีย
- อีก 1-2 วัน มีตุ่มในปาก แตกเป็นแผล เจ็บปาก สามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง ทั้งเพดานแข็ง เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม หรือที่ลิ้น หากเป็นเยอะ อาจจะลามมาที่ริมฝีปาก หรือรอบ ๆ ริมฝีปาก ซึ่งบางคนอาจจะรู้สึกเจ็บปากมาก จนทานอาหารไม่ได้ หรือมีอาการขาดน้ำตามมา หากเป็นกรณีนี้ควรรีบพามาโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด จนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือสามารถทานอาหารได้ตามปกติ
- มีตุ่มแดง เป็นผื่น หรือน้ำใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ง่ามนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือในบางรายอาจจะพบบริเวณรอบก้นได้ ซึ่งตามปกติผื่นต่าง ๆ เหล่านี้จะหายได้ภายใน 7-10 วัน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรคมือเท้าปาก
ปกติอาการโรคมือเท้าปาก มันไม่มีอาการรุนแรง แต่ภาวะแทรกซ้อนก็อาจจะพบได้ ภาวะรุนแรงมากที่สุดที่สามารถพบได้ แต่พบได้น้อยมาก ๆ เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต กล้อมเนื้ออ่อนแรง
คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกให้ดี ว่ามีอาการที่น่ากังวลหรือเปล่า เช่น
- มีอาการซึมลง
- มีอาการกระสับกระส่าย
- กินได้น้อยลง
- ปวดหัวมาก
- ไอหรือเหนื่อย
- หายใจหอบ หายใจเร็ว
- คอแข็งมาก
- มีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ
- มีอาการชักเกร็ง หมดสติ
- มือสั่น ขาสั่น เดินเซ
- มีอาการขาดน้ำชัดเจน
หากพบอาการผิดปกติ ควรรีบพามาพบคุณหมอ
การรักษาโรคมือเท้าปาก โรคมือเท้าปากในเด็กยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ทายาแก้ปวดแผลในปาก หรือถ้ามีอาการคัน ก็อาจจะให้ยาแก้แพ้แก้คัน ส่วนใหญ่จะรักษาได้เองภายใน 5-10 วัน
การรักษาจะเน้นที่ให้เด็กสามารถทานได้ เพราะฉะนั้นคุณหมออาจให้ยาชา เพื่อลดการบาดเจ็บเวลากินของเด็ก การให้เกลือแร่ เพื่อชดเชยสารอาหาร เมื่อลูกเป็นโรคมือเท้าปาก ควรให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ป้อนนมจากช้อนแทนการดูดจากขวด ดื่มน้ำบ่อย ๆ และนอนพักผ่อนมากๆ
การป้องกันเพื่อไม่ให้ลูกเป็นมือเท้าปาก
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ วิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ หยุดการแพร่กระจายของเชื้อ หากลุกไม่สบายควรให้หยุดเรียน เพื่อลดการแพร่กระจาย โรคนี้เกิดจากการสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนกับน้ำลาย หรืออุจจาระ ไม่ทันระวัง ก็อาจจะหยิบจับสิ่งของเข้าปาก ก็จะทำให้ได้รับเชื้อเข้าไป เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ดูแลสุขอนามัยให้ถูกต้อง
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ แอลกอฮอล์เจลฆ่าเชื้อไวรัสนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำ
- ตัดเล็บให้สั้น
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย
- ไม่ใช้จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ขวดนม หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
ติดต่อคลินิกกุมารเวช รพ. วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย โทร. 02-441-7899 หรือ 1792 หรือติดต่อได้ผ่านช่องทาง Line หรือสามารถตรวจเช็ค ตารางแพทย์ออกตรวจ เพื่อขอเข้ารับคำปรึกษาได้เลยค่ะ